บทที่ 8

ประวัติการแพทย์ในประเทศไทย

โดยคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์

ชยันต์ หิรัญพันธ์

หัวหน้าหอจอหมายเหตุ มหาวิทยาลัยพายัพ

คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาที่เริ่มต้นมาจากประเทศอิสราเอล มีความเชื่อพื้นฐานว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก สร้างจักรวาล และทุกสิ่งที่อยู่บนโลก มนุษย์เป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นให้ครอบครองดูแลโลก แต่ด้วยความทะเยอทะยานของมนุษย์ที่ต้องการเท่าเทียมกับพระเจ้าพระผู้สร้างเขา ทำให้พวกเขากบฏ ไม่เชื่อฟังพระเจ้า ซึ่งนี่คือความบาปและผลของความบาปคือความตายทั้งฝ่ายร่างกายและจิตวิญญาณ ทำให้พระเยซูคริสต์พระบุตรองค์เดียวของพระเจ้าต้องมาบังเกิดเป็นมนุษย์ ใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์คนหนึ่ง ตายบนไม้กางเขนรับโทษแทนมนุษย์ พระองค์ถูกฝังไว้ในอุโมงค์ ในวันที่สามทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย ทรงปรากฏพระองค์แก่บรรดาสาวกของพระองค์ และตรัสสั่งพวกเขาก่อนที่พระองค์จะเสด็จสู่สวรรค์ว่า

18 พระเยซูจึงเสด็จเข้ามาใกล้แล้วตรัสกับเขาว่าฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดีทรงมอบไว้แก่เราแล้ว 19 เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ 20 สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้ นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค(1)

ด้วยความเชื่อดังกล่าวข้างต้นทำให้เกิดมีการส่งมิชชันนารี หรือศาสนทูตออกไปในที่ต่าง ๆ เพื่อประกาศเผยแผ่คริสต์ศาสนา

คริสต์ศาสนาแบ่งออกเป็น 3 นิกายใหญ่ ๆ ตามหลักความเชื่อและการปฏิบัติคือ

1.      โรมันคาทอลิก คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นนิกายดั้งเดิมของคริสต์ศาสนาคาทอลิก (อังกฤษ : Catholic มาจากภาษากรีกคำว่า     แปลว่า สากล ทั่วไป)

 

370 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

มีผู้นำคือพระสันตะปาปา (Pope) อยู่ที่นครวาติกัน ลักษณะของคริสต์ศาสนานิกายนี้ก็คือการมีนักบวชผู้ชายที่เรียกว่าบาทหลวงหรือคุณพ่อ (Father)” มีนักบวชหญิงที่เรียกว่าแม่ชีหรือคุณแม่” (Sister) บาทหลวงและแม่ชีจะถือพรหมจรรย์ (ไม่แต่งงาน)

นอกจากจะมีความเชื่อดังกล่าวข้างต้นแล้ว คาทอลิกยังเชื่อว่าเปโตรเป็นผู้ที่รับมอบสิทธิอำนาจจากพระเยซูตามที่ปรากฏในพระธรรมมัทธิว บทที่ 16 ข้อ 18 - 1918 ฝ่ายเราบอกท่านว่าท่านคือเปโตร และบนศิลานี้เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้ และพลังแห่งความตายจะมีชัยต่อคริสตจักรนั้นหามิได้ 19 เราจะมอบลูกกุญแจแผ่นดินสวรรค์ให้ไว้แก่ท่าน ท่านจะกล่าวห้ามสิ่งใดในโลกสิ่งนั้นก็จะถูกกล่าวห้ามในสวรรค์ เมื่อท่านจะกล่าวอนุญาตสิ่งใดในโลกสิ่งนั้นจะกล่าวอนุญาตในสวรรค์ด้วยคาทอลิกถือว่าเปโตรเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกและมอบสิทธิอำนาจนี้ต่อพระสันตะปาปาองค์ต่อ ๆ มา ดังนั้นพระสันตะปาปาจึงกลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของคาทอลิกที่คริสตจักรคาทอลิกต้องเชื่อฟังมาโดยตลอด

นอกจากนั้นคริสตจักรคาทอลิกยังเชื่อในเรื่องนักบุญ เช่น นักบุญยอห์น นักบุญยอเซฟ นักบุญเปาโล หรือนักบุญออกัสติน เป็นต้น มีการปั้นรูปนักบุญต่าง ๆ มีการส่งบาทหลวงจากคณะดอมินิกันเข้ามาดูแลครอบครัวชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16(2) มีการเผยแพร่คริสต์ศาสนา มีการตั้งเขตการปกครองทางศาสนา (Synod) มีการตั้งคณะนักบวชคาทอลิกท้องถิ่นทั้งชายและหญิง มีการพิมพ์คำสอนเผยแพร่ ตั้งวิทยาลัยพระคริสตธรรม (Seminary) เพื่อเตรียมบาทหลวงคนท้องถิ่น และมีการตั้งมิซซังสยามขึ้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผู้ที่เชื่อในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทยจะถูกเรียกว่าคริสตัง” (เป็นการออกเสียงคำว่า Christian ในภาษาโปรตุเกส ซึ่งทำให้ชาวคาทอลิกในประเทศไทยถูกเรียกว่าคริสตังมาจนถึงปัจจุบัน)

งานการประกาศเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทยจะมีการตั้งวัด (ศาสนสถาน) ตั้งสถาบันสร้างและพัฒนานักบวชท้องถิ่น มีการตั้งสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียนเซนต์ยอเซฟ หรือโรงเรียนอัสสัมชัญวิทยาลัย โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนเรจีนาเชรีวิทยาลัย เป็นต้น สถาบันการรักษาพยาบาลเช่นโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เป็นต้น

2) ออร์ทอดอกซ์(3) คริสต์ศาสนานิกายออร์ทอดอกซ์เป็นคริสตจักรที่แยกตัวออกมาจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก ในปี พ.. 1597(4) โดยมีความเชื่อหลักไม่แตกต่างไปจากคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก เพียงแต่ว่าคริสต์ศาสนานิกายนี้จะไม่เน้นเรื่องรูปปั้น ที่สำคัญคือการไม่ยอมรับสิทธิอำนาจของพระสันตะปาปาที่กรุงโรม (นครวาติกัน) เริ่มต้นจากคริสตจักรแห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิลก่อตั้งโดยนักบุญแอนดรูว์ คริสตจักรแห่งอะเล็กซานเดรียก่อตั้งโดยนักบุญมาระโก คริสตจักรแห่งอันติออกก่อตั้งโดยนักบุญเปาโล คริสตจักรแห่งกรุงเยรูซาเลม ก่อตั้งโดยนักบุญเปโตรและนักบุญยากอบ

คริสตจักรเหล่านี้มีสิทธิ์ในการปกครองตนเอง มีผู้นำของตนเองในแต่ละประเทศ เป็นอิสระต่อกัน สำหรับในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นจากการที่คริสเตียนออร์ทอดอกซ์ชาวรัสเซีย (รัสเซียออร์ทอดอกซ์) ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เรียกร้องให้มีการตั้งศาสนจักรขึ้นที่กรุงเทพฯ สภาสงฆ์แห่งสังฆมณฑลคริสเตียนออร์ทอดอกซ์รัสซียได้พิจารณาและอนุมัติให้มีการตั้งศาสนจักร

 

371  ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

ที่กรุงเทพฯ และในปี พ.. 2551 ศาสนจักรออร์ทอดอกซ์ก็ได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งเป็นองค์กรเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางสังคมและศาสนา ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามูลนิธิชาวคริสต์ศาสนิกชนออร์ทอดอกซ์ในประเทศไทยได้ดำเนินการใดในเรื่องการแพทย์ หรือการรักษาพยาบาลผู้ที่เจ็บป่วยเพื่อใช้ในการประกาศเผยแผ่คริสต์ศาสนา

3) โปรเตสแตนต์ คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์เป็นคริสต์ศาสนาที่แยกตัวออกมาคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกอันเนื่องมาจากหลักคำสอนเรื่องการเป็นผู้ชอบธรรมโดยความเชื่อ ความล้มเหลวของบรรพชิต การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ การเติบโตของลัทธิปัจเจกชนนิยม การเติบโตของนครรัฐต่าง ๆ การเติบโตของลัทธิชาตินิยม และความมั่งคั่งของคริสตจักร โดยการนำของมาร์ตินลูเธอร์ ในปี พ.. 2060(5)

ความเชื่อหลักไม่ได้แตกต่างไปจากนิกายโรมันคาทอลิกหรือออร์ทอดอกซ์ แต่นิกายโปรเตสแตนต์นั้นไม่ยอมรับเรื่องนักบุญ ไม่ยอมรับรูปปั้นต่าง ๆ คริสเตียนมีสิทธิในการอ่านและตีความพระคัมภีร์ ไม่ยอมรับสิทธิอำนาจของพระสันตะปาปาที่กรุงโรม ไม่ยอมรับสิทธิอำนาจของพระสงฆ์ นักบวชในคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์สามารถแต่งงานได้ แบ่งเป็นหลายกลุ่มหลายคณะที่ไม่ขึ้นต่อกัน มีระบบระเบียบการบริหารจัดการภายในคณะของตนเอง เช่น เพรสไบทีเรียน เซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส หรือแบ๊บติสต์ เป็นต้น ภาษาทางด้านศาสนาที่ใช้จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างไปจากโรมันคาทอลิกหรือออร์ทอดอกซ์ เช่น การเรียกศาสนสถานว่าคริสตจักรเรียกนักบวชว่าศาสนาจารย์ (Reverend)” หรือศิษยาภิบาล (Pastor)” หรืออาจารย์เป็นต้น คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ได้เข้ามาประกาศเผยแผ่ในประเทศไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในปี พ.. 2371(6)

องค์การคริสต์ศาสนาที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ให้การรับรองคือ

1) โรมันคาทอลิก

2) โปรเตสแตนต์ นิกายนี้แบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่คือ

3) สภาคริสตจักรในประเทศไทย

4) สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย

5) สหคริสตจักรแบ๊บติสต์แห่งประเทศไทย

6) คริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส

372 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

372_รูป Rev. Dr. Carl Augustus Friederich Gutzlaff M.D. ในชุดแบบตะวันตก และในชุดแบบคนจีน

รูป Rev. Dr. Carl Augustus Friederich Gutzlaff M.D. ในชุดแบบตะวันตก และในชุดแบบคนจีน

 

การแพทย์โดยคณะมิชชั่นนิกายโปรเตสแตนต์

คณะมิชชั่นนิกายโปรเตสแตนต์ที่ส่งมิชชันนารีมาทำงานในเมืองไทยคณะแรกคือคณะลอนดอน มิชชั่นนารีโซไซเอดตี้7 โดยเริ่มต้นในปี พ.. 2371(8) จนถึงปี ค.. 2375 มิชชันนารีสองคนแรกคือ Rev.(9) Dr. Carl Augustus Friederich Gutzlaff M.D.(10) และ Rev. Jacob Tomlin ซึ่งเดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ในปี พ.. 2371 มิชชันนารีคณะนี้ได้ดำเนินการแจกใบปลิว หนังสือ และมีการแจกยารักษาโรคตามแบบตะวันตก(11) โดย Rev. Dr. Carl Augustus Friederich Gutzlaff M.D. ซึ่งคนไทยเรียกว่าหมอกิศลับ(12)เพื่อชักจูงชาวบ้านให้มาฟังการประกาศพระกิตติคุณ และรับเชื่อในพระเยซูคริสต์ ชาวบ้านที่มาหาเพื่อขอรับการรักษาแบบตะวันตกได้แก่ พวกคนจีน คนมอญ คนพม่า คนเขมร คนลาว มีทั้งพระสงฆ์ด้วย(13) มีการรักษาคนตาบอด คนที่ต้องการอดฝิ่น (ใช้ฝิ่นผสมกับ tartar emetic เป็นยารักษา) คนไข้ที่ป่วยเป็นโรครูมาติก (Rheumatic)

มีการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคท้องร่วง ผู้ป่วยบางคนต้องอาศัยอยู่ในสถานที่ของมิชชันนารีเพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิด มิชชันนารีสามารถดูแลรักษาให้หายได้ทุกคน มีการผ่าตัดเอาหัวกระสุนปืน (ยาวประมาณหนึ่งนิ้ว ใหญ่ประมาณปลายนิ้วก้อย) ออกจากแขนข้างขวาใกล้ข้อศอกของชายคนหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ชายคนนั้นเจ็บปวดมาก เพราะต้องมีการเปิดปากแผลให้กว้าง (เข้าใจว่าไม่มียาชา หรือใช้ยาสลบ เพราะไม่มีการกล่าวอ้างถึงเรื่องนี้) แต่การผ่าตัดครั้งนี้ก็สำเร็จลงได้ด้วยดี Rev. Dr. Carl Augustus Friederich Gutzlaff M.D. สามารถผ่าเอาหัวกระสุนปืนออกมาได้ด้วยดี อีกครั้งหนึ่งเมื่อเด็กรับใช้คนจีนของมิชชันนารีได้ถูกท้าพนันด้วยเงินครึ่งบาท (half a tical) ถ้าเขาสามารถกลืนเงินเหรียญหนึ่งร้อยบาทได้ พ่อของเด็กนั้นเห็นแก่เงินมากกว่าชีวิตของลูกชาย เขายุยงให้ลูกชายรับคำท้านั้น ในที่สุดเด็กนั้นได้ล้มลง อาเจียนเหรียญเงินบางส่วนออกมา มิชชันนารีได้ช่วยให้เด็กนั้นอาเจียนเอาเหรียญเงินที่เหลือออกมา ช่วยเหลือเด็กนั้นให้รอดชีวิต

 

373 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

แม้ว่ามิชชั่นคณะนี้มีการนำการแพทย์แบบตะวันตกมาใช้เป็นสื่อเพื่อนำคนเข้ามาถึงพระกิตติคุณ (เรื่องราวการช่วยให้รอดของพระเยซูคริสต์) มีการแปลพระธรรมมัทธิว พระธรรมมาระโก พระธรรมลูกา พระธรรมยอห์น พระธรรมกิจการของอัครทูต และพระธรรมโรมเป็นภาษาไทยโดยนายหิง (Hing) ผู้ช่วยคนไทยของมิชชันนารี การบำบัดรักษาผู้ป่วยก็ยังคงใช้บ้านพักของมิชชันนารี บ้านพักริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เช่าจากกงสุลโปรตุเกสเป็นที่พัก เป็นที่รักษาผู้ป่วย เป็นที่แจกใบปลิว แจกหนังสือ แจกพระคัมภีร์ แต่ไม่มีการสร้างโรงพยาบาล หรือจัดระบบการรักษาพยาบาลที่ชัดเจน ชาวบ้านที่มารับการรักษาและขอหนังสือจากมิชชันนารีได้นำผลไม้ ข้าว ปลา และผักต่าง ๆ มาให้มิชชันนารีเป็นการตอบแทน

ภรรยาของ Dr. Carl เสียชีวิตเนื่องจากการคลอดลูกแฝดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.. 2373 พร้อมกับลูกแฝดคนหนึ่ง ส่วนลูกแฝดอีกคนหนึ่งเสียชีวิตเมื่ออายุได้ประมาณขวบกว่า ขณะที่ Dr. Carl กำลังเดินทางออกจากประเทศไทย(14) เพื่อไปประเทศจีนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.. 2374 หลังจากเขาออกไปแล้ว Rev. Jacob Tomlin พร้อมกับ Rev. Dr. David Abeel M.D. (สังกัด The American Board of Commissioners for Foreign Missions) ได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ในเดือนมิถุนายน พ.. 2374 Rev. Jacob Tomlin ได้นำยามาเป็นจำนวนมาก หนังสือจีนหกหีบ และหนังสือภาษาไทยพิมพ์ด้วยตัวอักษรโรมัน 300 ฉบับ มีการแจกหนังสือ และแจกยา

ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม พ.. 2375(15) Rev. Jacob Tomlin และ Rev. Dr. David Abeel M.D. ได้เดินทางกลับออกไปและ Rev. Jacob Tomlin ไม่ได้กลับเข้ามาอีก ทั้งคณะลอนดอนมิชชั่นนารีโซไซเอดตี้ ก็ไม่ได้ส่งมิชชันนารีเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีก จึงถือได้ว่าคณะลอนดอนมิชชั่นนารีโซไซเอดตี้ได้ยุติบทบาทการทำพันธกิจในประเทศไทยลงตั้งแต่ปี พ.. 2375 เป็นต้นมา

สถิติประชากรของกรุงเทพฯ ในปี พ.. 2371(16) มีดังต่อไปนี้

คนจีน (ตามการจ่ายภาษีเข้าประเทศ)(17)               310,000 คน

บุตรหลานคนจีน (Descendants of Chinese)        50,000 คน

คนจีนในอินโดจีน/เวียดนาม (Cochin Chinese)         1,000 คน

คนเขมร                                                                 2,500 คน

คนสยาม                                                               8,000 คน

คนมอญ (Peguans)                                               5,000 คน

คนลาว                                                                  7,000 คน

Do, old residents                                                 9,000 คน

คนพม่า (Burmans)                                                2,000 คน

คน Tavoy (ทวาย)                                                  3,000 คน

คนมาเลย์                                                              3,000 คน

คริสเตียน                                                                  800 คน

รวม                                                                 401,300 คน

 

374 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

คณะมิชชั่นคณะที่สองคือ อเมริกันแบ๊บติสต์มิชชั่น(18) (มิชชั่นคณะนี้เป็นคนละคณะกับสหคริสตจักรแบ๊บติสต์แห่งประเทศไทยที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ให้การรับรอง) ที่เข้ามาทำงานประกาศเผยแพร่ในประเทศไทยในช่วงปี พ.. 2376 ถึง พ.. 2436

จากหนังสือ Historical Sketch of Protestant Missions in Siam(19) กล่าวถึงการเข้ามาทำงานในประเทศไทยของมิชชันนารีคณะนี้ว่าเกิดจากการขอร้องจาก Rev. Dr. Carl Gutzlaff M.D. และ Rev. Jacob Tomlin เริ่มต้นจากการแบ่งมิชชันนารีในประเทศพม่าสองคนให้มาทำงานในประเทศไทยคือ Rev. Dr. John Taylor Jones D.D.(20) กับ Mrs. Jones ซึ่งทั้งสองเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.. 2375(21) พร้อมกับลูกเลี้ยงชาวพม่าของท่านอายุสิบสองปีชื่อ Samuel Jones Smith

การทำพันธกิจของมิชชันนารีคณะนี้ไม่ปรากฏรายละเอียดเรื่องการนำการแพทย์มาใช้เป็นเครื่องมือ หรือสื่อในการประกาศเผยแพร่คริสต์ศาสนา แต่มีการกล่าวถึง Dr. H. Adamsen M.D. ผู้ซึ่ง Rev. Samuel Jones Smith ส่งไปเรียนแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา และกลับมาทำงานในประเทศไทย และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในเรื่องการรักษาโรค (แต่ไม่มีการระบุรายละเอียดการทำงานด้านนี้ และไม่ปรากฏรายชื่อของ Dr. H. Adamsen ว่าเป็นมิชชันนารีของอเมริกันแบ๊บติสต์มิชชั่นในประเทศไทย) ส่งผลต่อการประกาศเผยแพร่พระกิตติคุณในปี พ.. 2439 มีคน Peguans รับบัพติสมา 24 คน คนจีน 43 คน และคนไทย 3 คน

ต่อมา Dr. H. Adamsen ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของ South China Baptist Mission (ไม่มีมิชชันนารีของอเมริกันแบ๊บติสต์มิชชั่นในประเทศไทยอีกต่อไป) ตามหนังสือ Historical Sketch of Protestant Missions in Siam กล่าวว่าในปี พ.. 2436 Rev. L. A. Eaton รักษาการกงสุลอเมริกัน และเป็นมิชชันนารีของอเมริกันแบ๊บติสต์มิชชั่นคนเดียวที่ยังเหลืออยู่ได้ขาย จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของคณะมิชชั่นและกลับประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมอบงานของแบ๊บติสต์ทั้งหมดให้กับ Dr. H. Adamsen ก็นับได้ว่างานของอเมริกันแบ๊บติสต์มิชชั่นในประเทศไทยได้ยุติลงโดยพฤตินัยตั้งแต่เวลานั้น ในปี พ.. 2470 อเมริกันแบ๊บติสต์มิชชั่นได้ขายทรัพย์สินที่เหลือทั้งหมดและยุติการทำพันธกิจในประเทศไทย (ยังคงเหลือที่ดินที่ตั้งคริสตจักรจีนแบ๊บติสต์ที่สถาปนาขึ้นในปี พ.. 2380 โดย ศาสนาจารย์ ดร.ดีน (Rev. Dr. William Dean D.D.) ที่คริสตจักรใช้เป็นที่ตั้งโบสถ์ ที่นมัสการพระเจ้าในกรุงเทพฯ ปัจจุบันคือคริสตจักรไมตรีจิต คริสตจักรภาคที่ 12 สภาคริสตจักรในประเทศไทย)

คณะมิชชั่นคณะที่สามคือ อเมริกัน บอร์ด ออฟ คอมมิชชั่นเนอร์ส ฟอร์ ฟอร์เรน มิชชั่น(22) (The American Board of Commissioners for Foreign Missions) ที่เข้ามาทำงานประกาศเผยแผ่ในประเทศไทยในช่วงปี พ.. 2374 ถึง พ.. 2392 เพื่อตอบสนองการร้องขอของ Rev. Dr. Carl Gutzlaff M.D. และ Rev. Jacob Tomlin

มิชชันนารีคณะนี้ได้นำการศึกษา การพิมพ์ และการแพทย์แบบตะวันตกมาเป็นสื่อในการประกาศเผยแผ่คริสต์ศาสนา มีการจัดตั้งโรงพิมพ์ แต่ก็ไม่ได้มีการจัดตั้งโรงเรียน หรือโรงพยาบาล ในด้านการแพทย์นั้นศาสนาจารย์ นายแพทย์อาบีล (Rev. Dr. David Abeel M.D.) เป็นมิชชันนารีคนแรกของคณะมิชชั่นนี้ที่เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน

 

375 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

.. 2374 เพื่อแสวงหาลู่ทางในการทำพันธกิจในประเทศไทย ศาสนาจารย์ นายแพทย์อาบีลทำพันธกิจในการประกาศพระกิตติคุณ แจกหนังสือ และยารักษาโรคร่วมกับศาสนาจารย์ทอมลิน ศาสนาจารย์ทอมลินกลับเข้ามาครั้งนี้ทำงานได้หกเดือนก็กลับออกไป ศาสนาจารย์ นายแพทย์อาบีลได้กลับออกไปสิงคโปร์พร้อมกับศาสนาจารย์ทอมลิน และกลับเข้ามากรุงทพฯ อีก และท่านได้ทำงานจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.. 2375 จึงได้เดินทางกลับออกไป และไม่ได้กลับเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อีก

จนกระทั้งคณะอเมริกัน บอร์ด ออฟ คอมมิชชั่นเนอร์ส ฟอร์ ฟอร์เรน มิชชั่น ได้ส่งมิชชันนารีชุดใหม่เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.. 77 ครอบครัวของศาสนาจารย์ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.. 78 นายแพทย์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในประวัติศาสตร์การแพทย์ของประเทศไทยคือ ศาสนาจารย์ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Rev. Dr. Dan Beach Bradley M.D.) หรือที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันในชื่อของหมอบรัดเลย์

ศาสนาจารย์ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ นับเป็นนายแพทย์แบบตะวันตกคนที่สี่ในกรุงเทพฯ (คนแรกคือ Rev. Dr. Carl Gutzlaff M.D. สังกัดคณะลอนดอนมิชชั่นนารีโซไซเอดตี้ คนที่สองคือ Dr. H. Adamsen M.D. คนที่สามคือ Dr. David Abeel M.D. สังกัดอเมริกัน บอร์ด ออฟ คอมมิชชั่นเนอร์ส ฟอร์ ฟอร์เรน มิชชั่น และคนที่สี่คือศาสนาจารย์ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ M.D. สังกัดอเมริกัน บอร์ด ออฟ คอมมิชชั่นเนอร์ส ฟอร์ ฟอร์เรน มิชชั่น)

หมอบรัดเลย์เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.. 47 ที่เมือง Marcelius, New York ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบุตรของนาย Dan กับนาง Eunice Bradley จบการศึกษาด้านการแพทย์จาก The New York Medical College ในปี พ.. 76

เมื่อครอบครัวศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์ มาถึงกรุงเทพฯ ก็ได้พักอาศัยอยู่กับครอบครัว Mr. Johnson จนกระทั่งท่านได้สร้างบ้านของตนเองเสร็จในที่ดินของคณะมิชชั่น (เช่าจากนายกลิ่น (Clin) น้องชายของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จี่) ที่ข้างใต้ท่าวัดเกาะ(23) หลังจากนั้นไม่กี่วันท่านได้เปิดร้านขายยา (Dispensary) หรือในภาษาไทยเรียกว่าโอสถศาลาขึ้นที่ห้องใต้ถุนบ้าน Mr. Johnson ภายหลังพวกมิชชั่นได้ย้ายไปอยู่ที่กุฎีจีนใกล้บ้านของนาย Hunter ที่คนไทยเรียกว่านายหันแตรศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์ก็ได้ย้ายโอสถศาลาไปที่กุฎีจีนด้วย

กล่าวว่า เมื่อศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์มาถึงกรุงเทพฯ ได้สิบวัน นาย Hunter ได้มาหา โดยนำเรื่องราวมาจากพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จองค์น้อย” (Somdetch Ong Noi) หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) โดยอ้างว่าเป็นพระบัญชาของพระมหากษัตริย์ขอให้ศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์ไปรักษาพวกทาสและเชลยที่ป่วยเป็นไข้ทรพิษ และอหิวาตกโรค(24) เพื่อทดสอบความสามารถในการรักษาโรคของท่านก่อนที่อนุญาตให้ท่านรักษาชนชั้นสูงต่อไป

อย่างไรก็ดี มีคนป่วยประมาณวันละหนึ่งร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีน ได้มาที่โอสถศาลาเพื่อขอรับการรักษา ในขณะที่ศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์ดูแลรักษาผู้ป่วย

 

376 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

 

376

ศาสนาจารย์ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ M.D.

นายแพทย์บรัดเลย์และครอบครัว

 

377 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

โดยมีภรรยาและคนรับใช้ผู้หญิงคอยให้การช่วยเหลือนั้น นายจอห์นสัน (Mr. Johnson) ก็จะดำเนินการประกาศพระกิตติคุณเรื่องพระเยซูคริสต์กับผู้ป่วย หรือญาติของผู้ป่วยที่รอรับการรักษา

เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.. 2379 ในงานฉลองวัดของพระคลัง (Phra Klang’s temple) เกิดเหตุการณ์ปืนใหญ่ระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายคน ในคืนนั้น ศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์ประสบความสำเร็จในการตัดแขนพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นั้น(25)

ในปี พ.. 2381(26) ศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์ประสบความสำเร็จในการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งให้กับศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์ และให้ความสะดวกต่าง ๆ ในการทดลองค้นคว้าเรื่องการปลูกฝี ในช่วงปี พ.. 2381 - 2382 Rev. Dr. Stephen Tracy M.D. ได้เข้าช่วยทำงานด้านการแพทย์ ศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์และครอบครัวเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.. 2390 (.. 1847) คณะมิชชั่นคณะนี้ยุติการทำงานในประเทศไทยลงในปี พ.. 2392

ศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์เดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกครั้งในปี พ.. 2393 ในฐานะเป็นมิชชันนารีของ The American Missionary Association จนกระทั่งเสียชีวิตที่กรุงเทพฯ ในปี พ.. 2416 ส่วนภรรยาของศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์นั้นเสียชีวิตในปี พ.. 2436 นายแพทย์มิชชันนารีของมิชชั่นคณะนี้อีกคนหนึ่งที่ทำงานในช่วงปี พ.. 2394 - 2398 คือ ศาสนาจารย์ นายแพทย์ L. B. Lane M.D. (ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานเรื่องการรักษาพยาบาล โดยศาสนาจารย์ นายแพทย์ L. B. Lane M.D.)

คณะมิชชั่นอีกคณะหนึ่ง ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นคณะมิชชั่นสุดท้ายที่ส่งมิชชันนารีมาทำพันธกิจในประเทศไทยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่มีการประกาศเผยแผ่คริสต์ศาสนาโดยมีการใช้การแพทย์เป็นสื่อในการประกาศเผยแผ่ก็คือ อเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่น (American Presbyterian Mission)

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีคณะมิชชั่นอื่น ๆ อีกที่ได้เข้ามาประกาศเผยแผ่พระ-กิตติคุณในประเทศไทยโดยใช้การแพทย์เป็นสื่อในการประกาศเผยแผ่คริสต์ศาสนาคือ เซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส หรือคริสตจักรวันเสาร์ (Seven Days Adventist) ที่ส่งมิชชันนารีเข้ามาทำพันธกิจในประเทศไทยในปี พ.. 2461(27) ในเดือนมีนาคม พ.. 2480 นายแพทย์ราล์ฟ วอดแดล และภรรยาเช่าตึกแถว 3 ชั้น เลขที่ 56 ถนนไมตรีจิต ใกล้ห้าแยกพลับพลาไชย และเปิดเป็นคลินิกเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.. 2480 โดยใช้ชื่อว่าบางกอก มิชชั่นคลินิกแบ่งเป็นแผนกผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน (12 เตียง) ต่อมาได้มีการเช่าตึกแถวเพิ่มเพื่อขยายการให้บริการสำหรับผู้ป่วยใน ในปี พ.. 2483 ได้มีการเช่าตึกที่ถนนพิษณุโลกทำให้การให้บริการผู้ป่วยในสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ถึง 80 เตียง

ในปี พ.. 2484 มีการเปิดโรงเรียนพยาบาลโดยใช้หลักสูตรของสหรัฐอเมริกา และมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข แต่คลินิกและโรงเรียนพยาบาลนี้ต้องปิดตัวลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บรรดามิชชันนารีชาวอเมริกันถูกจับตัวเป็นเชลย หลังสงครามสงบลงจึงมีการเปิดดำเนินงานอีกครั้ง โรงพยาบาลมิชชั่นจดทะเบียนเป็นโรงพยาบาลทั่วไปภายใต้มูลนิธิคริสเตียนเมดดิคอลของเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส เป็นโรงพยาบาลขนาด 150 เตียง โรงพยาบาล

 

378 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

 

378_มิชชั่นผ่านการรับรองมาตรฐาน

Rev. & Mrs. Percy Clark

 

มิชชั่นผ่านการรับรองมาตรฐาน HA (Hospital Accreditation) โดยสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลในปี 2546 และผ่านการประเมินการรับรองมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพของโรงพยาบาล HA (Hospital Accreditation)

เดอะเชิร์ช ออฟ ไครสต อิน เกรตบริเตน (The Church of Christ in Great Britain) ที่ส่งมิชชันนารีเข้ามาทำพันธกิจในประเทศไทยในปี พ.. 2445 (มกราคม ค.. 1903)(28) และมีการใช้การแพทย์เป็นสื่อในการประกาศพระกิตติคุณ ในปี พ.. 2453 ครอบครัวนายแพทย์ R. Holliday ได้เข้ามาร่วมงานกับครอบครัว Clark (Rev. Percy Clark) และในปี พ.. 2454(29) จึงมีการเปิดโรงพยาบาลเล็ก ๆ สร้างด้วยไม้แยกออกจากบ้านพักของครอบครัว Clark และต่อมาในปี พ.. 2481 จึงมีการสร้างโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีอาคารก่ออิฐด้วยการสนับสนุนของ Benjamin Hays และในปีเดียวกันนี้ โรงพยาบาลก็ได้มีแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลปะ 2 ท่านเข้ามาปฏิบัติงานคือนายแพทย์เฉิน ซีเต้ (Chen Tsi Teh) กับนายแพทย์เฉิน เช็กหลิ่ง (Chen Chek Ling) (นายแพทย์เจริญ บูรณบรรพษา) ซึ่งโรงพยาบาลนี้ได้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลคริสเตียนนครปฐม ปัจจุบันก็คือโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนนครปฐม และเป็นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย

โอเวอร์ซี มิชชันนารี เฟลโลชิฟ (Oversea Missionary Fellowship, O.M.F.) ได้ส่งมิชชันนารีเข้ามาทำพันธกิจในประเทศไทยในปี พ.. 2494 (กุมภาพันธ์ ค.. 1951)(30) ในปี พ.. 2497 (กันยายน ค.. 1954) ที่อำเภออินทรบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.. 2497 ก็ได้มีการเปิดสุขศาลาขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง และในปี

 

379 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

.. 2499 คณะมิชชั่นก็ได้มีการเปิดโรงพยาบาลขนาดกลางขึ้นที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท โดยมีนายแพทย์ เอฟ. ซี. แมดด๊อกซ์ และภรรยา (ทั้งคู่เป็นแพทย์) เป็นผู้รับผิดชอบ ในปี พ.. 2501 มีการเปิดสุขศาลาชนบทบำบัดโรคเรื้อน นอกจากงานด้านการแพทย์ที่จังหวัดชัยนาทแล้ว คณะมิชชั่นคณะนี้ได้มีการทำพันธกิจในภาคใต้ด้วย มีการเปิดโรงพยาบาลขึ้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ในปัจจุบันผู้เขียนเข้าใจว่าคณะมิชชั่นประสบปัญหาในด้านการหาแพทย์มิชชันนารีเข้ามารับผิดชอบโรงพยาบาลจึงทำให้โรงพยาบาลทั้งที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีได้ลดฐานะจากโรงพยาบาลเป็นเพียงสถานพยาบาลในปัจจุบัน

คณะคริสเตียนแอนด์มิชชันนารีอไลแอนส์ (Christian and Missionary Alliance) ได้ส่งมิชชันนารีเข้ามาทำงานในประเทศไทยช่วงปี พ.. 2473 ในช่วงปี พ.. 2493 มีการประกาศเผยแพร่พระกิตติคุณผ่านการบำบัดรักษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยโรคเรื้อนในพื้นที่ภาคอีสาน(31)

การแพทย์โดยอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่น (American Presbyterian Mission)

การประกาศเผยแผ่พระกิตติคุณโดยการใช้การแพทย์เป็นสื่อของอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่นได้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้

1) การรักษาพยาบาลโรคทั่วไป

2) การรักษาพยาบาลโรคเรื้อน

การรักษาพยาบาลโรคทั่วไป

อเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่นได้ส่งมิชชันนารีเข้ามาทำพันธกิจในประเทศไทยในปี พ.. 2383 โดยเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ และขยายตัวออกไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ในส่วนภูมิภาค มีการตั้งสถานีมิชชั่น (Mission Station) ขึ้นดังต่อไปนี้(32)

1) สถานีมิชชั่นกรุงเทพฯ (Bangkok Station) ในปี พ.. 2383

2) สถานีมิชชั่นเพชรบุรี (Petchaburi Station) ในปี พ.. 2404

3) สถานีมิชชั่นเชียงใหม่ (ChiengMai Station) ในปี พ.. 2410

4) สถานีมิชชั่นลำปาง (Lakawn/Lampang Station) ในปี พ.. 2428

5) สถานีมิชชั่นราชบุรี (Rajaburee Station) ในปี พ.. 2432

6) สถานีมิชชั่นลำพูน (Lamphun Station) ในปี พ.. 2432(33)

7) สถานีมิชชั่นแพร่ (Prae Station) ในปี พ.. 2436

8) สถานีมิชชั่นน่าน (Nan Station) ในปี พ.. 2437

9) สถานีมิชชั่นเชียงราย (ChiengRai Station) ในปี พ.. 2439

10) สถานีมิชชั่นพิษณุโลก (Pitsanuloke Station) ในปี พ.. 2442

11) สถานีมิชชั่นนครศรีธรรมราช (Nakawn SriTamrat Station) ในปี พ.. 2443

12) สถานีมิชชั่นตรัง (Trang Station) ในปี พ.. 2453

 

380 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

ลักษณะการทำพันธกิจของอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่นอาจจำแนกได้ใน 3 ลักษณะคือ

1) การประกาศเผยแพร่โดยตรงจากมิชชันนารี และผู้ช่วยคนท้องถิ่น

2) การประกาศเผยแผ่ผ่านการใช้การแพทย์เป็นสื่อในการทำให้ผู้ทำการประกาศเผยแผ่มีโอกาสเข้าถึง/พูดคุยประกาศพระกิตติคุณกับผู้ป่วย/ญาติของผู้ป่วย หรือกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องการ

3) การประกาศเผยแผ่ผ่านการใช้การศึกษาเป็นสื่อในการประกาศพระกิตติคุณกับเด็ก บิดา/มารดาของเด็ก หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง

จากการดำเนินการดังกล่าวจึงเกิดการตั้งคริสตจักร โรงเรียนสำหรับเด็กชายและเด็กหญิง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาล หรือร้านขายยา (Dispensary) ในสถานีมิชชั่นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

สถานีมิชชั่นกรุงเทพฯ (Bangkok Station)

กรุงเทพฯ เป็นจุดแรกที่มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่นเริ่มต้นพันธกิจในปี พ.. 2383 นายแพทย์มิชชันนารีคนแรกที่เข้ามาทำพันธกิจนี้ในกรุงเทพฯ ในประเทศไทยคือศาสนาจารย์ นายแพทย์ Samuel Reynolds House M.D. นายแพทย์ House เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.. 2389 (.. 1847)(34) ได้เปิดแพขายยา (The floating - house dispensary) ที่ศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์เคยทำมาก่อน ศาสนาจารย์ นายแพทย์ House เป็นนายแพทย์ที่ทำการผ่าตัดโดยใช้อีเธอร์ (Ether) เป็นยาสลบ (anestheti)(35) ในปี พ.. 2392 เกิดอหิวาตกโรคในกรุงเทพฯ(36) มีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจนศพล้นวัด มีศพลอยเป็นแพในแม่น้ำ ประมาณว่ามีคนเสียชีวิตไม่น้อยกว่าสี่หมื่นคน พวกหมอไทย หมอจีนไม่สามารถรักษาได้ ชาวเมืองพากันทำบุญตักบาตร ขอด้ายสายสิญจน์จากวัดมาป้องกันตัวเพราะเชื่อว่าโรคร้ายที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากภูตผีปีศาจ ศาสนาจารย์ นายแพทย์ House ได้ช่วยรักษาชาวเมืองที่เจ็บป่วยด้วยยาที่ระบุในตำราแพทย์ในเวลานั้น ต่อมาท่านได้ให้คนป่วยรับประทานคาราเมล (Caramel เป็นน้ำตาลชนิดหนึ่ง) ครั้งละมาก ๆ มีการทดลองให้คนป่วยรับประทานน้ำการบูรผสมน้ำทุก ๆ สองสามนาทีและพบว่าผู้ป่วยที่มาหาท่านทันทีและได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ไม่มีใครเสียชีวิตสักคน

ในปี พ.. 2394 เกิดไข้ทรพิษระบาดในกรุงเทพฯ ศาสนาจารย์ นายแพทย์ House ได้สั่งหนองฝีมาจากสิงคโปร์ และได้ออกไปอ้อนวอนบิดามารดาของเด็กให้อนุญาตให้เด็กได้รับการปลูกฝี หรือบางครั้งต้องจ้างให้เด็กปลูกฝีด้วย

380_Samuel Reynolds House M.D.

ศาสนาจารย์ นายแพทย์

Samuel Reynolds House M.D.

 

381 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

ในปี พ.. 2410 (วันที่ 4 มีนาคม ค.. 1868) ศาสนาจารย์ นายแพทย์ House ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปเชียงใหม่ แต่ระหว่างทางถูกช้างแทง ท่านต้องนอนกับพื้น ใช้กระจกส่อง ใช้น้ำที่มีอยู่ไม่ถึงหนึ่งทะนาน (ประมาณไม่ถึงหนึ่งลิตร) ในการทำความสะอาด ท่านต้องเย็บแผลหน้าท้องถึงสี่เข็ม ความลำบากของการรักษาตัวเองในขณะนั้นคือ ต้องเย็บท้องตัวเอง ต้องนอนราบกับพื้นเย็บ นั่งเย็บไม่ได้ ต้องใช้กระจกส่องดูเพื่อการเย็บ มีน้ำใช้ในการทำความสะอาดแผลไม่ถึงหนึ่งลิตร

ศาสนาจารย์ นายแพทย์ House เดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.. 2418 (March 1876)(37) นายแพทย์มิชชันนารีคนต่อมาคือ Dr. T. Heyward Hays M.D.(38) ซึ่งทำงานในช่วงปี พ.. 2429 - 2434 ท่านได้เปิดร้านขายยาขึ้นในปี พ.. 2430 (18 January 1888) ในปี พ.. 2465 คณะมิชชั่นได้ตั้งมาตาภาวสถาน (Maternity Home)” ขึ้นเพื่อดูแลหญิงตั้งครรภ์ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยด้วยการสนับสนุนจากคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่น ได้มีการซื้อที่ดินประมาณ 14 ไร่บนถนนสีลม สร้างโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธันวาคม พ.. 2492 โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนได้มีการพัฒนาในการให้บริการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และได้รับการรับรองตามระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO 9002 ในปี พ.. 2541(39) อเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่นได้โอนมอบกิจการโรงพยาบาลนี้ให้มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ปัจจุบันมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นเจ้าของกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดของโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

สถานีมิชชั่นเพชรบุรี (Petchaburi Station)

ในปี พ.. 2404 คณะมิชชั่นได้ขยายงานออกไปที่จังหวัดเพชรบุรี แพทย์มิชชันนารีคนแรกที่ไปเริ่มงานที่จังหวัดเพชรบุรีคือ Dr. Ernest A. Sturge M.D. นายแพทย์ Sturge ซึ่งเดินทางมาถึงในปี พ.. 2423 และเป็นผู้ที่สร้างโรงพยาบาลของมิชชั่นที่จังหวัดเพชรบุรี(40) ในสมัยที่นายแพทย์ W. B. Toy M.D. เป็นผู้รับผิดชอบโรงพยาบาลนี้ มีการก่อสร้างอาคารของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นและขยายการบริการไปในพื้นที่โดยรอบ(41) นายแพทย์มิชชันนารีที่มารับผิดชอบงานโรงพยาบาลของมิชชั่นที่เพชรบุรี (Petchaburi Hospital) มีหลายท่านเช่น นายแพทย์ James B. Thomson M.D. (รับผิดชอบงานต่อจากนายแพทย์ Toy แต่ได้เสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรคในปี พ.. 2441 ในขณะที่ภรรยาและบุตรทั้ง 4 คนของท่านอยู่ที่อเมริกา) นายแพทย์ Benjamin Paddock M.D. นายแพทย์ William J. Swart M.D. นายแพทย์ Lucius C. Bulkley M.D. นายแพทย์ Edwin B. McDaniel M.D. และนายแพทย์ Neils Nedergaard M.D. เป็นนายแพทย์มิชชันนารีคนสุดท้าย และ Mrs. John L. Eakin เป็นพยาบาลมิชชันนารีคนสุดท้ายของโรงพยาบาลนี้ อเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่นได้ยุติกิจการโรงพยาบาลแห่งนี้เนื่องจากคณะมิชชั่นขาดนายแพทย์มิชชันนารีที่จะเข้ามารับผิดชอบพันธกิจด้านนี้

 

382 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

สถานีมิชชั่นเชียงใหม่ (ChiengMai Station)

ในปี พ.. 2410 คณะมิชชั่นได้ขยายงานออกไปที่จังหวัดเชียงใหม่ มิชชันนารีครอบครัวแรกที่เดินทางมาประจำที่จังหวัดเชียงใหม่คือ ครอบครัวศาสนาจารย์ ดร.แมคกิลวารี สิ่งที่ศาสนาจารย์ ดร.แมคกิลพบและเขียนถึงก็คือ ความเจ็บป่วยของชาวบ้านที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย หรือโรคคอพอก หรือไข้ทรพิษ ที่หมอพื้นบ้านไม่สามารถรักษาให้หายได้และมีความเชื่อ ความเข้าใจว่าความเจ็บป่วยเหล่านั้นเป็นการกระทำของผี

ศาสนาจารย์ ดร.แมคกิลวารีต้องใช้ยาควินินที่นำติดตัวเพื่อครอบครัวของท่านออกมาช่วยรักษาชาวบ้านที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย ท่านได้ใช้ an ointment of potassium iodide ในการรักษาโรคคอพอก(42) ท่านได้ใช้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษที่ได้รับจาก ศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์มาดำเนินการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษให้กับชาวบ้าน ท่านได้ร้องขอให้คณะมิชชั่นส่งแพทย์มิชชันนารีมาช่วยท่านในการทำพันธกิจและแพทย์มิชชันนารีคนแรกที่ไปเริ่มงานที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.. 2414 (มกราคม ค.. 1872)(43) คือ Dr. Charles Wesley Vrooman M.D. ในหนังสือ Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928 เขียนไว้ว่า “He began treating the sick on the day of his arrival and…”(44) มีการสร้างอาคารโรงพยาบาลชั่วคราวด้วยไม้ไผ่ในที่ดินของคณะมิชชั่น(45) และมีการวางแผนที่จะสร้างอาคารถาวรของโรงพยาบาล โดยเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ตกลงอนุญาตให้คณะมิชชั่นสร้างโรงพยาบาลบนที่ดินฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ใกล้กับทางสายหลักที่ใช้ในการเดินทาง (near the principal highway of travel, being almost the identical spot where we live before coming across the river.)(46) เข้าใจว่าเป็นที่ดินที่เป็นที่ตั้งสถานีกาชาด 3 เชียงใหม่ในปัจจุบัน ในปี พ.. 2447 เป็นช่วงเวลาที่นายแพทย์แมคเคน (James William McKean M.D.) รับผิดชอบงานการแพทย์ของสถานีมิชชั่นเชียงใหม่ นายแพทย์แมคเคนได้ตั้งห้องทดลองผลิตวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษส่งออกไปใช้ในโรงพยาบาลของคณะมิชชั่นในภาคเหนือ(47) รวมทั้งโรงพยาบาลของรัฐด้วย

การผลิตวัคซีนของนายแพทย์แมคเคนประสบความสำเร็จทำให้ไม่ต้องมีการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ มีการใช้วัคซีนนี้อย่างแพร่หลายโดยผู้ฉีดวัคซีนซึ่งได้รับการอบรม และฝึกหัดจากนายแพทย์แมคเคน ภายหลังที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ และมีการตั้ง Pasteur Institute ขึ้น จึงทำให้การผลิตวัคซีนของโรงพยาบาลมิชชั่นหมดความจำเป็น และยุติไป ต่อมาในสมัยที่นายแพทย์เอ็ดวิน ชาร์ลส์ คอร์ท (Edwin Charles Cort M.D.) เป็นผู้รับผิดชอบโรงพยาบาลที่เชียงใหม่ (ChiengMai Hospital) และคณะมิชชั่นได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก Mrs. Netties Fowler McCormick(48) ในการพัฒนาโรงพยาบาล มีการเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลจาก “ChiengMai Hospital” เป็นโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

ต่อมาได้มีการสร้างโรงพยาบาลใหม่ในที่ตั้งปัจจุบัน บนที่ดินบนถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และในปี พ.. 2471(49) มีการกล่าวถึงโรงพยาบาลแมคคอร์มิคว่าเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง มีแผนกทำคลอดจำนวน 6 เตียงแยกต่างหาก มีแผนกพระสงฆ์โดยเฉพาะ มีห้อง 4 ห้องสำหรับคนยุโรป มีห้องผ่าตัด นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนฝึกหัดนางพยาบาลซึ่งได้พัฒนาเป็นคณะพยาบาลศาสตร์แมคคอร์มิค มหาวิทยาลัยพายัพ

 

383 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

ในหนังสือ Guide Book เขียนไว้ว่าโรงพยาบาลแมคคอร์มิคเป็นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศสยามที่มีมาตรฐานที่ดีที่สุด (the best accredited hospitals in Siam(50)) มีแผนกสูตินรีเวชขนาดใหญ่ มีแผนกโภชนาการ มีบุคลากรดี อุปกรณ์ทันสมัยเช่นเครื่องซักผ้าไฟฟ้าทันสมัย มีเครื่องเอกซเรย์ พร้อมห้องล้างฟิล์ม นายแพทย์มิชชันนารีที่ทำงานรับผิดชอบโรงพยาบาลแมคคอร์มิคอย่างยาวนานและเป็นที่ชื่นชอบของคนเชียงใหม่ในทุกระดับก็คือนายแพทย์คอร์ทซึ่งเริ่มต้นทำงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิคตั้งแต่ ปี พ.. 2452 และเกษียณอายุการทำงานในปี พ.. 2492 นับเป็นเวลานานถึง 40 ปีโดยประมาณ นายแพทย์คอร์ทยังได้เป็นนายแพทย์ผู้ดูแลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ในขณะที่พระองค์ท่านเสด็จขึ้นมาทรงงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิคในปี พ.. 2472

โรงพยาบาลแมคคอร์มิคนับเป็นโรงพยาบาลของคณะมิชชั่นที่โดดเด่นในภาคเหนือ เป็นโรงพยาบาลที่ผลิตนางพยาบาลให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ของคณะมิชชั่น ในช่วงสงครามครั้งที่ 2 โรงพยาบาลแมคคอร์มิคถูกรัฐบาลยึดเพราะเป็นทรัพย์สินของชนชาติศัตรู มีการเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลเสรีเริงฤทธิ์ เมื่อสงครามสงบรัฐบาลไทยได้มอบคืนโรงพยาบาลคืนให้กับคณะมิชชั่น โรงพยาบาลได้เปลี่ยนชื่อกลับมาใช้ชื่อแมคคอร์มิคดังเดิม คณะมิชชั่นได้มอบโอนกิจการและทรัพย์สินโรงพยาบาลแมคคอร์มิคให้กับมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ปัจจุบันโรงพยาบาลแมคคอร์มิคเป็นของมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย และมูลนิธิฯ เป็นผู้ดำเนินการ

383_นายแพทย์คอร์ท

นายแพทย์คอร์ท กับผู้ป่วย

 

384 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

 

384_ศาสนาจารย์ นายแพทย์ซามูเอล ซี. พีเพิลส์

ศาสนาจารย์ นายแพทย์ซามูเอล ซี. พีเพิลส์

 

สถานีมิชชั่นลำปาง (Lakawn/Lampang Station)

ในปี พ.. 2428 คณะมิชชั่น ได้ขยายงานออกไปที่จังหวัดลำปาง มิชชันนารีและแพทย์มิชชันนารีคนแรกที่ไปเริ่มงานที่จังหวัดลำปางคือ ศาสนาจารย์ นายแพทย์ซามูเอล ซี. พีเพิลส์ (Rev. Samuel C. Peoples M.D.)(51) ในปี พ.. 2432 มีการตั้งสถานีลำปางขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีศาสนาจารย์ นายแพทย์พีเพิลส์รับผิดชอบงานด้านการแพทย์ของสถานีลำปาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานทุนทรัพย์จำนวน 2,000 รูปี ผ่านทางพระเจ้า-น้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรเพื่อการจัดตั้งโรงพยาบาล(52) ในปี พ.. 2432 (14 January 1890) นายแพทย์วิลเลียม อัลเบิร์ต บริกส์ (Dr. William Albert Briggs M.D.)(53) ได้เข้ามารับผิดชอบงานของ Lampang Hospital and Dispensary ต่อจากศาสนาจารย์ นายแพทย์พีเพิลส์ ศาสนาจารย์ นายแพทย์บริกส์รับผิดชอบงานด้านการแพทย์ของสถานีมิชชั่นลำปางในช่วงระยะเวลาหนึ่งและได้ย้ายไปเปิดสถานีมิชชั่นที่แพร่ในปี พ.. 2436(54) และย้ายไปประจำที่สถานีมิชชั่นเชียงรายในปี พ.. 2443 ในปี พ.. 2437 ศาสนาจารย์ นายแพทย์ James S. Thomas M.D. ได้เข้ามารับผิดชอบงานโรงพยาบาลจนถึงปี พ.. 2440 ในปี พ.. 2442 นายแพทย์ Carl C. Hansen M.D. (เป็นผู้รับผิดชอบหลัก) นายแพทย์ Charles W. Mason M.D. และนายแพทย์ Edwin Charles Cort M.D. ได้มารับผิดชอบโรงพยาบาลจนถึงปี พ.. 2451 ในช่วงที่นายแพทย์ Hansen รับผิดชอบโรงพยาบาลในรายงานประจำปี พ.. 2453 นายแพทย์ Hansen รายงานว่ามีผู้ป่วยที่บาดเจ็บเนื่องจากถูกปืนยิงเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการนำความศิวิไลซ์เข้ามาสู่ดินแดนที่ห่างไกลนี้ (The records also show an increasing number of cases of gunshot wounds, thus testifying to the progress of civilization by the introduction of fire arms into this remote part of the world(55)) และนายแพทย์ Charles H. Crooks M.D. ได้เข้ามารับผิดชอบโรงพยาบาลต่อ และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินจากญาติพี่น้องของคุณ Charles T. Vansantwoord(56)

โรงพยาบาลได้มีการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาล และเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลเป็นชาร์ลส์ ที แวนเซนต์วูรดในสมัยที่นายแพทย์ตวงคำ สุริยะคำ เป็นผู้อำนวยการได้มีการเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลเป็นแวนเซนต์วูรด(57) เพื่อง่ายต่อการเรียกหา ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงพยาบาลแห่งนี้ถูกรัฐบาลยึดเพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินของชนชาติศัตรู มีการเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลวิชิตสงครามเมื่อสงครามสงบลง รัฐบาลไทยได้คืนโรงพยาบาลให้กับคณะมิชชั่น และมีการเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลกลับมาใช้ชื่อเดิมคือแวนเซนต์วูรดภายหลังคณะมิชชั่นได้มีการมอบโอนโรงพยาบาลนี้ให้กับมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ปัจจุบันมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักร

 

385 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

385_ศาสนาจารย์ นายแพทย์ Egon Wachter M.D.

ศาสนาจารย์ นายแพทย์ Egon Wachter M.D.

และภรรยา

ในประเทศไทยเป็นเจ้าของและดำเนินการโรงพยาบาลแวนเซนต์วูรด

สถานีมิชชั่นราชบุรี (Rajaburee Station)

ในปี พ.. 2432 คณะมิชชั่นได้ขยายงานจากเพชรบุรีออกไปที่จังหวัดราชบุรีด้วยระยะเวลาในการเดินทางประมาณยี่สิบสี่ชั่วโมง(58) มิชชันนารีครอบครัวแรกที่ไปเริ่มต้นงานสถานีมิชชั่นราชบุรีคือ ครอบครัวนายแพทย์ James B. Thomson M.D. และแพทย์มิชชันนารีคนแรกที่ไปเริ่มงานที่จังหวัดราชบุรีคือ นายแพทย์ James B. Thomson M.D. โดยที่ครอบครัวนี้เข้าไปเริ่มงานที่จังหวัดราชบุรีในปี พ.. 2432 ท่านรับผิดชอบงานการแพทย์ การศึกษา และการประกาศเผยแผ่พระกิตติคุณ หลังจากที่ท่านกลับไปเยี่ยมบ้านที่อเมริกา ท่านได้รับมอบหมายให้ไปรับผิดชอบงานด้านการแพทย์ที่สถานีมิชชั่นเพชรบุรี ท่านได้เดินทางกลับมาประเทศไทยก่อนครอบครัวของท่าน และเสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรคในปี พ.. 2441 ที่จังหวัดเพชรบุรี (ครอบครัวยังอยู่ที่อเมริกาขณะที่นายแพทย์ Thomson เสียชีวิต)

นายแพทย์มิชชันนารีที่เข้ามารับผิดชอบงานด้านการแพทย์ที่สถานีมิชชั่นราชบุรีอีกท่านหนึ่งคือ ศาสนาจารย์ นายแพทย์ Egon Wachter M.D. ศาสนาจารย์ นายแพทย์ Wachter รับผิดชอบงานด้านการแพทย์ของสถานีมิชชั่นราชบุรีในช่วงปี พ.. 2437 - 2451 และท่านได้ไปช่วยสอนที่ศิริราชสัปดาห์ละสองวัน(59)

นอกจากนั้นยังมีนายแพทย์มิชชันนารีอีกหลายท่านที่รับผิดชอบงานด้านการแพทย์ของสถานีมิชชั่นราชบุรีคือ นายแพทย์ Guy Hamilton M.D. นายแพทย์ Harry Boyd M.D. และนายแพทย์ Lucius C. Bulkley M.D.(60) เนื่องจากเด็กที่จบการศึกษาจากโรงเรียนของมิชชั่นได้ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าที่กรุงเทพฯ ที่สถานีมิชชั่นราชบุรีในช่วงเวลานั้นไม่มีการสถาปนาคริสตจักร (แต่มีการนมัสการเป็นประจำสม่ำเสมอ) มีการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงราชบุรี ถึงเพชรบุรี การเดินทางจากราชบุรีถึงเพชรบุรีใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งชั่วโมง ดังนั้นคณะมิชชั่นจึงตัดสินใจยุบสถานีมิชชั่นราชบุรีรวมเข้ากับสถานีมิชชั่นเพชรบุรีในปี พ.. 2452 นายแพทย์ Kien Ku(61) เข้าไปดำเนินการร้านขายยาและจัดการเรื่องการรักษาพยาบาล ในปี พ.. 2470 นายแพทย์ Wui Jane (วุ่ยเจ็ง เหรียญ) เป็นผู้รับผิดชอบโรงพยาบาลของมิชชั่น ต่อมาคณะมิชชั่นได้ปิดกิจการโรงพยาบาลที่ราชบุรี

 

386 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

386_ศาสนาจารย์ นายแพทย์บริกส์

ศาสนาจารย์ นายแพทย์บริกส์

สถานีมิชชั่นลำพูน (Lamphun Station)

ในปี พ.. 2432 คณะมิชชั่นได้ขยายงานออกไปที่จังหวัดลำพูน ประมาณ 18 ไมล์ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูนมีฐานะเป็นสถานีมิชชั่นย่อยของสถานีมิชชั่นเชียงใหม่ ที่นี่ไม่มีมิชชันนารีอยู่ประจำ มีการเปิดคลินิกรักษาผู้ป่วยโดยนายแพทย์มิชชันนารีจากเชียงใหม่สัปดาห์ครั้ง หรือสองสัปดาห์ครั้ง(62) เช่นนายแพทย์แมคเคน หรือนายแพทย์เมซัน และนายแพทย์คอร์ท เป็นต้น ที่ลำพูนไม่มีการตั้งโรงพยาบาลเหมือนกับสถานีมิชชั่นอื่น ๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะลำพูนอยู่ใกล้กับเชียงใหม่ การเปิดคลินิกก็น่าจะเพียงพอต่อความต้องการของท้องถิ่น

สถานีมิชชั่นแพร่ (Prae Station)

ในปี พ.. 2436 คณะมิชชั่น ได้ขยายงานออกไปที่จังหวัดแพร่ แพทย์มิชชันนารีคนแรกที่ไปเริ่มงานที่จังหวัดแพร่คือศาสนาจารย์ นายแพทย์บริกส์ นอกจากจะเป็นนายแพทย์มิชชันนารีคนแรกของสถานีมิชชั่นนี้แล้วศาสนาจารย์ แพทย์บริกส์ยังเป็นมิชชันนารีที่รับผิดชอบการเปิดงานสถานีมิชชั่นแพร่ในปี พ.. 2436(63) มีการเปิดสถานพยาบาลบนฝั่งแม่น้ำยมฝั่งตะวันตก ที่หมู่บ้านเชตวัน ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ โรงพยาบาลนี้ถูกเรียกว่า Prae Hospital and Dispensary ศาสนาจารย์ นายแพทย์ James S. Thomas M.D. ได้เข้ารับช่วงงานต่อจากศาสนาจารย์ นายแพทย์บริกส์ ในปี พ.. 2445 เกิดกบฏเงี้ยว มีการส่งผู้หญิงและเด็กไปลำปาง และเชียงใหม่ มีการขอให้ศาสนาจารย์ นายแพทย์ Thomas เป็นผู้ดูแล Mission Compound ที่แพร่ มีคริสเตียนและคนไทยที่ไม่ใช่คริสเตียน (non - Christian Siamese) ได้ขอเข้ามาหลบภัยใน Mission Compound ศาสนาจารย์ นายแพทย์ Thomas ได้ชักธงอเมริกันเหนือ Mission Compound และจ้างแขกยาม (Sikh watchmen) จำนวนหนึ่งมารักษาความปลอดภัยให้กับ Mission Compound ซึ่งช่วยให้ไม่มีกบฏเงี้ยวเข้ามารุกรานพื้นที่ของคณะมิชชั่น ในขณะที่คนไทยและเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองถูกกบฏเงี้ยวฆ่า

ต่อมาในปี พ.. 2456 ได้มีการย้ายโรงเรียน โบสถ์ และโรงพยาบาลจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยมมาฝั่งตะวันออก ที่ริมถนนยันตรกิจโกศลในที่ตั้งปัจจุบัน มีนายแพทย์มิชชันนารีหลายท่านได้เข้ามารับผิดชอบโรงพยาบาลแห่งนี้ เช่น แพทย์หญิง Mary Irwin M.D. นายแพทย์ Charles Henry Crook M.D นายแพทย์ Edwin Charles Cort M.D. และนายแพทย์ Charles Park M.D. เป็นต้น ในรายงานประจำปี พ.. 2482(64) ในส่วนของการแพทย์ของสถานีมิชชั่นแพร่กล่าวว่าที่แพร่มียุงชุกชุมเหมือนที่อื่น ๆ ของประเทศสยาม ทำให้ไข้มาลาเรียระบาดไปทั่วและเป็นโรคปกติทั่วไปของประเทศนี้ รายงานสถิติของสาธารณสุข (Public Health Statistics) ระบุว่าสาเหตุการตายอันดับแรกของคนไทยคือไข้มาลาเรีย มีคนเสียชีวิตด้วยไข้มาลาเรียมากกว่า

 

387 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

ห้าหมื่นคนต่อปี

มีรายงานว่า ในเช้าวันหนึ่งในฤดูฝน หมอของโรงพยาบาลได้ถูกขอร้องให้ไปดูผู้ป่วยคนหนึ่งในหมู่บ้านที่อยู่ห่างออกไปประมาณเจ็ดกิโลเมตร ถนนมีแต่โคลน หมอต้องเดินลุยโคลนด้วยเท้าเปล่าไปบ้านผู้ป่วย ที่บ้านผู้ป่วยมีเพื่อนบ้านที่มาเยี่ยมอยู่เต็มบ้าน หมอพบผู้ป่วยนอนหมดสติอยู่บนที่นอน มีสมุนไพรพื้นบ้านกองอยู่รอบ ๆ ตัวผู้ป่วย ทราบว่าผู้ป่วยไปนอนที่ทุ่งนา (อยู่ห่างไกลจากบ้าน) หลายคืน กลับมาด้วยอาการเป็นไข้ เขาได้กินยาพื้นบ้าน ในวันต่อมาเขาได้ล้มลงหมดสติ ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านต่างก็เชื่อว่านี่เป็นการกระทำของผีที่ทุ่งนาที่เขาไปทำนา ดังนั้นจึงมีการรักษาตามความเชื่อดังกล่าว

หมอได้พูดให้นำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล พวกหมอผี (quack doctors) ได้ปฏิเสธเรื่องนี้กล่าวว่าหากไปโรงพยาบาลให้หมอฉีดยาฝรั่งชายผู้นี้ก็จะตาย แต่พ่อของชายผู้นี้ตัดสินใจทำแคร่ไม้ไผ่หามชายคนนี้ไปโรงพยาบาลโดยไม่ฟังเสียงของพวกหมอผี ที่โรงพยาบาลมีการตรวจเลือดพบว่าผลเลือดเป็นบวก (positive for Plasmodium falciparum) หมอได้ฉีด Atebrin (Quinacrine) ให้น้ำเกลือ และกลูโคส รวมทั้งยากระตุ้นหัวใจ (Cardiac stimulants) ในวันที่สามผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว ในวันที่สี่ผู้ป่วยเริ่มพูดและลุกนั่งได้ สองสามวันต่อมาเขาก็หายเป็นปกติ และออกจากโรงพยาบาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวบ้านทั้งหลายก็พากันมาโรงพยาบาลขอรับการฉีดยาและยาอื่น ๆ เพื่อการรักษาโรคในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โรงพยาบาลแห่งนี้ถูกรัฐบาลยึดกิจการเพราะถือว่าเป็นกิจการของชนชาติศัตรู มีการเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลพหลโยธิน(65) หลังจากสงครามสงบ รัฐบาลไทยได้คืนโรงพยาบาลให้กับคณะมิชชั่น คณะมิชชั่นได้ดำเนินกิจการโรงพยาบาลแห่งนี้เรื่อยมา มีการเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนภายหลังคณะมิชชั่นได้โอนมอบกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดของโรงพยาบาลนี้ให้กับมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ปัจจุบันโรงพยาบาลแพร่คริสเตียนเป็นโรงพยาบาลของมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยและดำเนินการโดยมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย

387_Mission Hospital - Nan

Mission Hospital – Nan

 

388 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

สถานีมิชชั่นน่าน (Nan Station)

ในปี พ.. 2437 คณะมิชชั่นได้ขยายงานออกไปที่จังหวัดน่าน มิชชันนารีและแพทย์มิชชันนารีคนแรกที่ไปเริ่มงานที่จังหวัดน่านคือศาสนาจารย์ นายแพทย์ซามูเอล ซี. พีเพิลส์ (Rev. Samuel C. Peoples M.D.) นายแพทย์มิชชันนารีคนอื่นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลที่สถานีมิชชั่นน่าน เช่น Miss Mary Bowman M.D. (ภายหลังได้สมรสกับ Rev. Robert Irwin) กล่าวว่าแพทย์หญิง Bowman เป็นแพทย์หญิงคนแรกที่ผ่าท้องนำทารกออกจากท้องแม่เป็นคนแรกของภาคเหนือที่จังหวัดน่านนี้(66) Dr. William Henry Beach M.D., Dr. Harvey Perkins M.D. และ Dr. Charles Henry Crooks M.D. เป็นต้น การรักษาพยาบาลที่น่านนี้มีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคเรื้อนด้วย ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองคณะมิชชั่นได้ยุติการดำเนินงานด้านการแพทย์ที่สถานีมิชชั่นน่านเนื่องจากปัญหาการขาดแพทย์มิชชันนารี

สถานีมิชชั่นเชียงราย (ChiengRai Station)

ในปี พ.. 2439 (19 กุมภาพันธ์ ค.. 1897)(67) คณะมิชชั่นได้ขยายงานออกไปมีการส่งมิชชันนารีไปประจำที่จังหวัดเชียงราย เปิดสถานีมิชชั่นเชียงราย แพทย์มิชชันนารีคนแรกที่ไปเริ่มงานที่จังหวัดเชียงรายคือ ศาสนาจารย์ นายแพทย์แคลร์ เอช. เดนแมน (Rev. Claire H. Denman M.D.) หรือที่ คนทั่วไปเรียกว่าหมอเดนแมนนายแพทย์เดนแมนได้เริ่มงานการแพทย์เมื่อมาถึงจังหวัดเชียงราย เริ่มการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง เปิดร้านขายยาโดยใช้ชื่อว่า Ching Rai Hospital and Dispensary ศาสนาจารย์ นายแพทย์เดนแมนได้จัดอบรมผู้ปกครองของคริสตจักรท้องถิ่นให้มีความรู้เรื่องการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ที่ไม่ซับซ้อน และทำคู่มือการรักษาโรคแบบง่าย ๆ สำหรับการรักษาโรคที่ไม่สลับซับซ้อน เพื่อให้ผู้ปกครองของคริสตจักรท้องถิ่นใช้

388_ศาสนาจารย์ นายแพทย์แคลร์ เอช. เดนแมน

ศาสนาจารย์ นายแพทย์แคลร์ เอช. เดนแมน

(Rev. Claire H. Denman M.D.)

 

389 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

เพื่อการประกาศพระกิตติคุณ และขายให้กับชาวบ้านทั่วไป ช่วยให้ชาวบ้านที่เจ็บป่วยเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องเดินทางระยะทางไกลและลำบากเข้ามาในเมือง

ในปี พ.. 2443 North Laos Mission ได้ย้ายครอบครัวศาสนาจารย์ นายแพทย์วิลเลียม อัลเบิร์ต บริกส์ (Rev. William Elbert Briggs M.D.)(68) จากสถานีลำปางมาประจำที่สถานีมิชชั่นเชียงราย ศาสนาจารย์ นายแพทย์บริกส์ได้รับผิดชอบงานด้านการแพทย์ต่อจากศาสนาจารย์ นายแพทย์เดนแมน มีการขอรับเงินถวายจากคริสตจักรต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับเงินถวายจากคริสตจักรโอเวอร์บรุ๊ค [ส่วนใหญ่จากครอบครัวเกสต์ (Gest)] นำมาสร้างอาคารหลังใหม่ของโรงพยาบาล และมีการเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลจาก Chieng Rai Hospital เป็น Overbrook Hospital จนถึงทุกวันนี้ ในช่วงที่ศาสนาจารย์ นายแพทย์บริกส์รับผิดชอบงานที่สถานีมิชชั่นเชียงราย

ในปี พ.. 2445 เกิดกบฏเงี้ยว ศาสนาจารย์ นายแพทย์บริกส์ได้ช่วยเหลือทางราชการทำให้จังหวัดเชียงรายรอดพ้นจากการโจมตีของกบฏเงี้ยวโดยการให้คำแนะนำแก่ ข้าหลวงใหญ่สยาม (Siamese Commissioner) และผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงเวลาที่นายแพทย์ นายแพทย์เอ็ดวิน บี. แมคดาเนียล (Edwin B. McDaniel)(69) เป็นผู้รับผิดชอบโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค คริสตจักรโอเวอร์บรุ๊คได้สนับสนุนโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊คโดยการถวายเครื่องเอกซเรย์ 1 เครื่อง รถพยาบาล 1 คัน โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค เป็น

389_ชาวบ้านพาผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาล

ชาวบ้านพาผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาลในช่วงที่นายแพทย์แมคดาเนียล

เป็นผู้อำนวยการ (.. 2492 - 2497)

 

390 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

390

 

 

391 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

391_นายแพทย์ Carl J. Shellman M.D.

นายแพทย์ Carl J. Shellman M.D.

โรงพยาบาลที่คณะมิชชั่นได้มอบโอนให้กับมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย

สถานีมิชชั่นพิษณุโลก (Pitsanuloke Station)

ในปี พ.. 2442 คณะมิชชั่น ได้ขยายงานออกไปที่จังหวัดพิษณุโลก แพทย์มิชชันนารีคนแรกที่ไปเริ่มงานที่จังหวัดพิษณุโลกคือ นายแพทย์ Walter B. Toy M.D.(70) โดยเริ่มต้นจากการใช้เรือของนายแพทย์ Toy เป็นสถานพยาบาลให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย และต่อมามีการสร้างโรงพยาบาลขึ้น

นายแพทย์มิชชันนารีที่มารับผิดชอบงานการแพทย์ต่อจากนายแพทย์ Toy มีนายแพทย์มิชชันนารีอีกหลายท่าน เช่น นายแพทย์ C. C. Walker M.D. นายแพทย์ Carl J. Shellman M.D. นายแพทย์ William T. Lyon M.D. และนายแพทย์ James V. Horst M.D. เป็นต้น นายแพทย์มิชชันนารีซึ่งเป็นที่รักของคนพิษณุโลก (beloved physician - “loved by everyone from the common people to those of rank”) และเป็นที่มาของชื่อของโรงพยาบาลแห่งนี้คือ นายแพทย์ Carl J. Shellman M.D. นายแพทย์มิชชันนารีผู้นี้รับผิดชอบงานด้านการแพทย์ของสถานีมิชชั่นพิษณุโลกในช่วงปี พ.. 2449 - 2461 (22 มีนาคม ค.. 1919)

ท่านเสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรคที่พิษณุโลก และต่อมาได้มีการเรียกชื่อโรงพยาบาลนี้ว่า “Carl J. Shellman Hospital” หรือเรียกง่าย ๆ ว่าโรงพยาบาลแชลแมนเพื่อเป็นที่ระลึกถึงท่าน เนื่องจากปัญหาการขาดแพทย์มิชชันนารี ทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้ต้องปิดลงในปี พ.. 2484(71) คณะกรรมการจังหวัดพิษณุโลกได้ทำหนังสือถึงอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่นขอนำโรงพยาบาลแชลแมนไปรวมกับโรงพยาบาลพุทธชินราช ในปี พ.. 2490 อเมริกันเพรสไบทีเรียนได้ตกลงคืนที่เช่าราชพัสดุซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลแชลแมน โรงเรียนผดุงนารี และทรัพย์สินของโรงพยาบาลแชลแมน โรงเรียนผดุงนารี มอบให้กับจังหวัดพิษณุโลกไปดำเนินการต่อไป สำหรับงานด้านการศึกษา (โรงเรียนผดุงราษฎร์) และคริสตจักรในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกคณะมิชชั่นยังคงมีการดำเนินการต่อไป และได้มีการโอนมอบให้กับมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยในเวลาต่อมา

สถานีมิชชั่นนครศรีธรรมราช (Nakawn SriTamrat Station)

ในปี พ.. 2443 คณะมิชชั่นได้ขยายงานออกไปที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการเปิดสถานีมิชชั่นศรีธรรมราช แพทย์มิชชันนารีคนแรกที่ไปเริ่มงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราชคือ นายแพทย์ Guy Hamilton M.D.(72) มีการใช้ห้องเล็ก ๆ ข้างโบสถ์เปิดเป็นร้านขายยา ต่อมาได้มีการสร้างโรงพยาบาลขึ้น นอกจากนายแพทย์ Hamilton แล้วยังมีนายแพทย์มิชชันนารีอีกหลายท่าน

 

 

392 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

ที่ได้เข้ามาดูแลงานของโรงพยาบาล เช่น นายแพทย์ Harry Boyd M.D. นายแพทย์ William J. Swart M.D. ศาสนาจารย์ นายแพทย์ Egon Wachter M.D. นายแพทย์ Paul Van Meter M.D. และนายแพทย์ Edwin B. McDaniel M.D. เป็นต้น ภายหลังมีการเรียกชื่อโรงพยาบาลนี้ว่าศรีธรรมราชรำลึก” (Sritamarat Memorial Hospital) เนื่องจากปัญหาการขาดแพทย์

มิชชันนารีคณะมิชชั่นจึงได้ยุติงานด้านการแพทย์ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้มอบให้เอกชนเช่ากิจการไป ส่วนงานด้านโรคเรื้อนที่นายแพทย์ Edwin B. McDaniel ได้เริ่มต้นในปี พ.. 2470(73) ได้มีการโอนมอบให้รัฐบาลไปดำเนินการ

สถานีมิชชั่นตรัง (Trang Station)

ในปี พ.. 2453(74) คณะมิชชั่นได้ขยายงานออกไปที่จังหวัดตรัง แพทย์มิชชันนารีคนแรกที่ไปเริ่มงานที่จังหวัดตรังคือ นายแพทย์ Lucius C. Bulkley M.D. มีการตั้งโรงพยาบาล (Taptieng Hospital) และสำนักงานสถานีมิชชั่นตรังที่ตลาดทับเที่ยง ตำบลทับเที่ยง (ภายหลังราชการได้ย้ายสถานที่ราชการจากกันตังมาที่ตำบลทับเที่ยงและเปลี่ยนชื่อตำบลเป็นตำบลเมืองตรัง) นายแพทย์ Bulkley ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลไทยให้เป็นเจ้าหน้าที่อนามัยของรัฐ (a government health officer) ในปี พ.. 2456 เพื่อต่อสู้กับการระบาดของอหิวาตกโรค นายแพทย์ Bulkley เป็นนายแพทย์ที่มีชื่อเสียงในการเป็นจักษุแพทย์ ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ในสถานีมิชชั่นตรังนอกจากนายแพทย์ Bulkley แล้วก็ยังมี Miss Johanna Christensen R.N. และศาสนาจารย์ นายแพทย์ Egon Wachter M.D. เป็นต้น งานด้านการแพทย์ของคณะมิชชั่นฯ ที่สถานีมิชชั่นตรังก็มีปัญหาเหมือนสถานีมิชชั่นอื่น ๆ อีกหลายแห่งคือ การขาดแคลนนายแพทย์มิชชันนารีจนส่งผลให้ต้องยุติกิจการสถานพยาบาลของคณะมิชชั่นลง ที่สถานีมิชชั่นตรังก็ได้มีการปิดกิจการสถานพยาบาลที่สถานีมิชชั่นตรังและมอบให้ส่วนบุคคลไปดำเนินการ

392_Lucius C. Bulkley M.D.

นายแพทย์  Lucius C. Bulkley M.D.

 

 

393 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

393_นายแพทย์เจมส์ วิลเลียม แมคเคน

นายแพทย์เจมส์ วิลเลียม แมคเคน

(James William McKean M.D.)

 

การรักษาพยาบาลโรคเรื้อน

งานด้านการรักษาโรคเรื้อนของอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่นเริ่มต้นที่สถานีมิชชั่นเชียงใหม่ในปี พ.. 2435 มีการแจกเงิน แจกยาให้กับผู้ป่วย หรือแจกผ้าห่มในฤดูหนาว(75) ต่อมาในปี พ.. 2451 ด้วยการสนับสนุนของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชา-นุภาพ(76) เจ้าอินทรวโรรส สุริยะวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในเวลานั้นได้มอบที่ดินทางด้านใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ ติดกับแม่น้ำปิงที่เรียกว่าเกาะกลางพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ให้คณะมิชชั่นดำเนินการตั้งโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อน ผู้ที่รับผิดชอบงานโรคเรื้อนของคณะมิชชั่นคือ นายแพทย์เจมส์ วิลเลียม แมคเคน (James William McKean M.D.)

นายแพทย์แมคเคนได้นำผู้ป่วยโรคเรื้อนมาไว้ที่โรงพยาบาล และท่านได้ไปศึกษาดูงานการรักษาโรคเรื้อนในประเทศต่าง ๆ และนำมาใช้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงต้น ๆ มีการใช้น้ำมันกระเบาในการฉีดรักษาผู้ป่วย ต่อมาประมาณปี พ.. 2468 ได้มีการพัฒนาการรักษาโรคเรื้อนด้วยการใช้ Iodized Ethyl Esters of Chaulmoogra oil ซึ่งกล่าวว่าได้รับผลดี(77) งานโรงพยาบาลโรคเรื้อนที่สถานีมิชชั่นเชียงใหม่ถือเป็นศูนย์กลางการบำบัดโรคเรื้อนของคณะมิชชั่นในประเทศไทย มีการขยายงานการบำบัดโรคเรื้อนไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ของมิชชั่น เช่น สถานีมิชชั่นเชียงราย สถานีมิชชั่นลำปาง สถานีมิชชั่นน่าน และสถานีมิชชั่นนครศรีธรรมราช เป็นต้น มีการซื้อที่ดินจัดเป็นนิคมให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาให้หายแล้วในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ที่พื้นที่ในเขตอำเภอฝาง อำเภอเชียงดาว อำเภอสันป่าตอง และอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และบางอำเภอในจังหวัดน่าน เป็นต้น

ภายหลังที่นายแพทย์แมคเคนได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อของโรงพยาบาลนี้เป็นโรงพยาบาลแมคเคนเพื่อเป็นเกียรติประวัติให้กับนายแพทย์แมคเคน ผู้เริ่มต้นงานนี้ ต่อมาเมื่อสถานการณ์ของโรคเรื้อนในประเทศไทยดีขึ้น มีการพบผู้ป่วยรายใหม่น้อยลง โรงพยาบาลแมคเคนที่เคยมุ่งเน้นเรื่องการรักษาโรคเรื้อนก็ได้เปลี่ยนแนวทางมาเป็นการฟื้นฟูสภาพ และผู้สูงอายุ มีการเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันแมคเคนเพื่อการฟื้นฟูสภาพปัจจุบันสถาบันแมคเคนเพื่อการฟื้นฟูสภาพมีฐานะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กของมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย

 

394 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

การแพทย์โดยอเมริกันแบ๊บติสต์มิชชั่น และเดอะยูไนเต็ทคริสเตียนมิชชันนารีโซไซเอดตี้ [American Baptist Mission and The United Christian Missionary Society (Disciples)]

ในช่วงในปี พ.. 2495 - 2503 มิชชันนารีจากอเมริกันแบ๊บติสต์มิชชั่น และเดอะยูไนเต็ทคริสเตียนมิชชันนารีโซไซเอดตี้ ได้ไปสำรวจความเป็นไปได้ในการประกาศพระกิตติคุณในพื้นที่เขตภาคตะวันตกของประเทศ และเห็นว่าอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม จึงมีการดำเนินการประกาศพระกิตติคุณ สถาปนาคริสตจักร ตั้งโรงเรียน และโรงพยาบาล นายแพทย์ Douglas Corpron M.D. เป็นนายแพทย์มิชชันนารีที่รับผิดชอบงานของโรงพยาบาลที่อำเภอสังขละบุรี ท่านเดินทางมาถึงอำเภอสังขละบุรีในเดือนมีนาคม พ.. 2504(78) และมีการสร้างโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง ชื่อว่าโรงพยาบาลคริสเตียนแม่น้ำแควน้อยเสร็จในปี พ.. 2509 แพทย์มิชชันนารีที่รับผิดชอบโรงพยาบาลแห่งนี้มีหลายท่านเช่น นายแพทย์ Roy Myers M.D. นายแพทย์ John Freeman M.D. นายแพทย์ Bina Sawyer M.D. นายแพทย์ Keith Dahlberg M.D. และนายแพทย์ Philip McDaniel เป็นต้น ในช่วงปี พ.. 2513 - 2518 โรงพยาบาลคริสเตียนแม่น้ำแควน้อยต้องหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากขาดแพทย์มิชชันนารี เมื่อมีการสร้างเขื่อนเขาแหลมในปี พ.. 2523 - 2527 ทำให้พื้นที่บางส่วนของอำเภอสังขละบุรีกลายเป็นที่เก็บกักน้ำของเขื่อนเขาแหลม ทำให้คณะมิชชั่นได้ย้ายกิจการของคณะมิชชั่นมาที่อำเภอใหม่ และมีการสร้างโรงพยาบาลคริสเตียนแม่น้ำแควน้อยใหม่ขึ้นที่บ้านห้วยมาลัย หมู่ที่ 5 ตำบลหนองลู ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอสังขละบุรีประมาณ 15 กิโลเมตร ในปัจจุบันคณะมิชชั่นได้โอนมอบโรงพยาบาลคริสเตียนแม่น้ำแควน้อยให้กับมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย

สรุป

การแพทย์ของมิชชันนารีที่ดำเนินการโดยอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่น เดอะดิสไซเปิล ออฟ ไครสต อิน เกรทบริเทน และอเมริกันแบ๊บติสต์มิชชั่น มาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเป็นกิจการทรัพย์สินของคณะมิชชั่น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คณะมิชชั่นได้มีการสลายตัวยุติบทบาทการนำการเป็นเจ้าของกิจการ มีการโอนมอบกิจการ ทรัพย์สินต่าง ๆ ให้กับมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย บรรดาโรงพยาบาลที่ยังคงอยู่และเปิดดำเนินการภายใต้มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยคือ

1) โรงพยาบาลแมคคอร์มิค (จังหวัดเชียงใหม่)

2) สถาบันแมคเคนเพื่อการฟื้นฟูสภาพ (จังหวัดเชียงใหม่)

3) โรงพยาบาลแวนเซนต์วูรด (จังหวัดลำปาง)

4) โรงพยาบาลแพร่คริสเตียน (จังหวัดแพร่)

5) โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค (จังหวัดเชียงราย)

6) โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน (กรุงเทพมหานคร)

7) โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนนครปฐม (นครปฐม)

8) โรงพยาบาลคริสเตียนแม่น้ำแควน้อย (อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี)

 

 

395 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

บันทึกของผู้เขียน

เนื่องจากเอกสารชั้นปฐมภูมิของคณะมิชชั่นที่เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยพายัพมีจำนวนมาก มีเอกสารของคณะมิชชั่นบางคณะที่มีการดำเนินการด้านการแพทย์ แต่ไม่ได้เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุ เช่น ของคณะเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส คณะแบ๊บติสต์ และคณะซีเอ็มเอมิชชั่นเป็นต้น และความจำกัดในด้านเวลาการค้นคว้าของผู้เขียน อีกทั้งสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลบางแห่งได้ยุติ หรือเลิกกิจการ หรือมอบให้บุคคลไปดำเนินการต่อกลายเป็นกิจการส่วนบุคคลไปแล้ว จึงทำให้งานเขียนนี้ไม่สามารถแสดงรายละเอียดถึงการแพทย์ของคณะมิชชั่นในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง งานเขียนนี้เป็นเพียงงานเขียนที่แสดงถึงความตั้งใจ เจตนารมณ์ในการให้บริการทางการแพทย์ของคณะมิชชั่นในภาพรวมกว้าง ๆ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาค้นคว้าเอกสารเพิ่มเติมในรายละเอียดของสถานพยาบาลแต่ละที่แต่ละแห่งได้ที่หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยพายัพ

เชิงอรรถ

1 สมาคมพระคริสตธรรมในประเทศไทย. พระธรรมมัทธิว บทที่ 28 ข้อ 18 - 20, (กรุงเทพมหานคร : สมาคมพระคริสตธรรมในประเทศไทย, 1971).

2 จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีโรมันคาทอลิกในประเทศไทย

3 จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี https://th.wikipedia.org เรื่องศาสนาคริสต์ในประเทศไทย

4 เอ็ม.อี. กิบส์. จากเยรูซาเล็มสู่นิวเดลี (พระนคร:สุริยบรรณ,2514), 130.

5 เรื่องเดียวกัน, 270.

6 ชยันต์ หิรัญพันธุ์. 60 ปี สภาคริสตจักรในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : สภาคริสตจักรในประเทศไทย, 2540), 2.

7 ประสิทธิ์ พงศ์อุดม. ประวัติศาสตร์สภาคริสตจักรในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : สภาคริสตจักรในประเทศไทย, 2527), 1.

8 ปีในบทความนี้ผู้เขียนจะใช้เป็นปี..” ทั้งหมด แม้ว่าหนังสือ หรือเอกสารที่ใช้ในการอ้างอิงจะใช้ปี..” และการเปลี่ยนปี..” เป็นปี..” ก็คือการนำเลขปี..” บวกด้วย543สำหรับปี ค.. ทั่ว ๆ ไป ในกรณีที่มีการระบุวัน เดือน ที่ชัดเจนก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.. 2484 วันขึ้นปี พ.. ใหม่ของไทยจะนับที่วันที่ 1 เมษายน ดังนั้น วันที่ 5 มีนาคม ค.. 1940 จะแปลงเป็นปี พ.. คือ วันที่ 5 มีนาคม พ.. 2482 และวันที่ 5 เมษายน ค.. 1940 จะแปลงเป็นปี พ.. คือ วันที่ 5 เมษายน พ.. 2483 และตั้งแต่ปี พ.. 2484 เป็นต้นมาก็จะนับเดือนมกราคมถึงธันวาคมเหมือนกัน เพราะประเทศไทยปรับมาใช้วันเดือนปีตามระบบสากล คือแต่ละปีเริ่มที่วันที่ 1 เดือนมกราคมจบที่วันที่ 31 เดือนธันวาคม

9 คำว่า “Rev.” ย่อมาจากภาษาอังกฤษคำว่า “Reverend” แปลในภาษาไทยว่าศาสนาจารย์” (ใช้ในสายของโปรเตสแตนต์)

10 Rev. Dr. Carl Augustus Friederich Gutzlaff M.D. เป็นมิชชันนารีชาวเยอรมัน เรียนจบจากวิทยาลัยพระคริสตธรรมของ Dutch Missionary Society (NZG) ในปี พ.. 2369 เป็นมิชชันนารีอยู่ที่สุมาตรา และชวา เขาได้เรียนภาษาจีนและสามารถใช้ภาษาจีนในการสื่อสารได้ เขามีความคิดที่จะประกาศกับคนจีน แต่คณะมิชชั่น NZG เห็นว่าเขาควรทำงานกับอาณานิคมของ Dutch เท่านั้น ภายหลังเขาได้เป็นมิชชันนารีอิสระที่จะทำงานประกาศเผยแผ่เอง เมื่อเขาเดินทางออกจากประเทศไทยในปี พ.. 2375 เขาได้มุ่งไปทำการประกาศเผยแผ่ที่ประเทศจีน

 

 

396 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

11 J. Tomlin. Missionary Journals and Letters, written during Eleven Years Residence and Travels among the Chinese, Siammese, Javanese, Khassias, and other Eastern Nations (London: James Nisbet and Co. Berners Street, 1844), 121.

12 คุณหญิงสุรเสนา. ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 12, พิมพ์ครั้งที่ 2 เรื่องจดหมายเหตุของราชฑูตฝรั่งเศสเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ แลจดหมายเหตุของหมอบรัดเลในรัชกาลที่ 4 ที่ 5 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2462), 32.

13 J. Tomlin., 128, 130 - 131, 158, 160, 162, 185.

14 หอสมุดแห่งชาติ. ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 7 ภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันมาประเทศสยามตอนที่ 1 แต่ พ.. 2371 จน พ.. 2379 (พระนคร : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2507), 526 - 527.

15 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928. (Bangkok: The Bangkok Times Press, Ltd., 1928), 7.

16 เรื่องเดียวกัน, 184

17 คนจีนที่เข้าประเทศครั้งแรกต้องจ่ายภาษีเข้าประเทศคนละ 3 เหรียญสหรัฐ จ่ายทุกสามปี

18 Kenneth E. Wells. History of Protestant Work in Thailand (Bangkok: The Church of Christ in Thailand, 1958), 16 - 17.

19 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 27.

20 D.D. คือปริญญาเอกทางด้านศาสนศาสตร์ Doctor of Divinity

21 ในหนังสือ Historical Sketch of Protestant Missions in Siam ระบุวันที่มิชชันนารีมาถึงกรุงเทพฯ คือวันที่ 25 มีนาคม ค.. 1833 เมื่อนำปี ค.. บวกด้วย 543 ควรจะเป็นปี พ.. 2376 แต่เนื่องจากวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือวันเปลี่ยนปี พ.. คือวันที่ 1 เมษายน ดังนั้นวันที่ 25 มีนาคม ค.. 1833 เมื่อแปลงเป็นปี พ.. จึงใช้เป็น วันที่ 25 มีนาคม พ.. 2375.

22 ประสิทธิ์ พงศ์อุดม. ประวัติศาสตร์สภาคริสตจักรในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : สภาคริสตจักรในประเทศไทย, 2527), 2.

23 ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 12, พิมพ์ครั้งที่ 2 เรื่องจดหมายเหตุของราชฑูตฝรั่งเศสเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ แลจดหมายเหตุของหมอบรัดเลในรัชกาลที่ 4 ที่ 5, 32.

24 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 12 - 13.

25 Mrs. George Bradley McFarland ผู้เขียนบทความนี้ในหนังสือ Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928. เขียนว่า “This is believed to have been the first modern surgical operation ever performed in Siam” ซึ่งมีหลายท่านได้นำข้อความนี้มากล่าวอ้างว่าศาสนาจารย์ นายแพทย์บรัดเลย์ เป็นผู้การทำการผ่าตัดแบบการแพทย์สมัยใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าอาจจะไม่ใช่เพราะก่อนหน้านี้ Rev. Dr. Gutzlaff M.D. ได้ผ่าตัดเอาหัวกระสุนปืนออกจากแขนของชายคนหนึ่งมาแล้ว

26 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 17 - 18.

27 ชยันต์ หิรัญพันธุ์. 60 ปี สภาคริสตจักรในประเทศไทย, 160.

28 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 261.

29 Kenneth E. Wells. History of Protestant Work in Thailand 1828 - 1958, 198.

30 สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย. 30 ปี สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย (กรุงเทพฯ : สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย, 1999), 21 - 22.

31 http://www.cmalliance.org.

32 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 92, 113, 129, 138, 141, 146, 150, 156, 168, 176.

33 Kenneth E. Wells. History of Protestant Work in Thailand 1828 - 1958, 96.

 

 

397 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

34 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 37.

35 Kenneth E. Wells. History of Protestant Work in Thailand 1828 - 1958, 23.

36 ยอร์ช ฮอส์ แฟลตัส (ผู้เรียบเรียง) เจ. เอ. เอกิ้น กับตาด ประทีปเสน (ผู้แปล). บุรุษผู้ใจดีซามูเอล เรโนลส์ เฮาซ์ ในสยาม (พระนคร : โรงพิมพ์บุญเรือง, 1928), 125 - 131.

37 Kenneth E. Wells. History of Protestant Work in Thailand 1828 - 1958, 32.

38 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 199.

39 กองการแพทย์ สภาคริสตจักรในประเทศไทย. สภาคริสตจักรในประเทศไทยกับการบำบัดรักษา 1934 - 1999 (กรุงเทพฯ : ศูนย์บริการงานพิมพ์ มหาวิทยาลัยพายัพ, 1999), 33 - 35.

40 ยอร์ช ฮอส์ แฟลตัส (ผู้เรียบเรียง) เจ. เอ. เอกิ้น กับตาด ประทีปเสน (ผู้แปล). “บุรุษผู้ใจดีซามูเอล เรโนลส์ เฮาซ์ ในสยาม, 118.

41 Kenneth E. Wells. History of Protestant Work in Thailand 1828 - 1958, 118.

42 Daniel McGilvary. A Half Century among Siamese and the Lao (New York: Fleming H. Revell Company, 1911), 87 - 92.

43 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 120.

44 เรื่องเดียวกัน

45 เอกสารไมโครฟิล์มของ Board of Foreign Mission รหัส RG 028/(79)(1) Presbyterian Church in the United States of America. Board of Foreign Mission. Siam and Laos Mission. ม้วนที่ 2 Volume 3 จดหมายฉบับที่ 174 ซึ่งเป็นจดหมายของ ศ.. ดร.ดาเนียล แมคกิลวารี ลงวันที่ 10 เมษายน ค.. 1872.

46 The Thirty - Sixth Annual Report of the Board of Foreign Mission of the Presbyterian Church 1873. (New York: Mission House: 1873), p.74.

47 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 197.

48 Laos News. ฉบับเดือนกรกฎาคม ค.. 1917, หน้า 71.

49 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 120 - 121.

50 Guide Book (n.p.:n.d.), 22.

51 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 129.

52 ประสิทธิ์ พงศ์อุดม (บรรณาธิการวิชาการ). เรื้อน ร้าย โรย ลา...(เชียงใหม่ : ปิง วัง ยม น่าน, 2556), 42.

53 Kenneth E. Wells. History of Protestant Work in Thailand 1828 - 1958, 94.

54 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 133.

55 Station Reports of the North Laos Mission for the year closing November 30th, 1900, Lakawn - Medical Work, 7 - 8.

56 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 133.

57 กองการแพทย์ สภาคริสตจักรในประเทศไทย. สภาคริสตจักรในประเทศไทยกับการบำบัดรักษา 1934 - 1999, 14.

58 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 138.

59 Kenneth E. Wells. History of Protestant Work in Thailand 1828 - 1958, 119.

60 เรื่องเดียวกัน, 120.

 

398 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

61 หนังสือ Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928. หน้า 138 ระบุว่านายแพทย์คนนี้ชื่อ Tien Koo (not a fully certified doctor)

62 Kenneth E. Wells. History of Protestant Work in Thailand 1828 - 1958, 96.

63 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 133., 142 - 143.

64 The Siam Outlook Vol. X No. 1, January 1939 p.40 - 41.

65 กองการแพทย์ สภาคริสตจักรในประเทศไทย. สภาคริสตจักรในประเทศไทยกับการบำบัดรักษา 1934 - 1999, 17.

66 แวลส์, เคนเน็ท อี. ประวัติศาสตร์โปรเตสแตนต์ในประเทศไทย 1828 - 1958, 127 - 128.

67 ไมโครฟิล์ม Presbyterian Church in the U.S.A. Board of Foreign Mission, Siam Letters and Correspondence รหัส 028/79 ม้วนที่ 7 Annual Report of Cheung Hai Station for year closing December 1, 1897.

68 Steven D. King. The Missionary Story - Part One, Dr. William Albert Briggs and Annabelle King Briggs Section One The Story, 1890 - 1906. (Oregon: Steven D. King, 2004), 168 - 180., 193 - 216.

69 จำพวกเอกสาร Eakin รหัส 017/80 กล่องที่ 3 แฟ้มที่ 10 แผ่นที่ 2.

70 Kenneth E. Wells. History of Protestant Work in Thailand 1828 - 1958, 113.

71 เอกสารอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่น รหัส RG 001/78 กล่องที่ 24 แฟ้มที่ 14 Pitsanuloke Station

72 George Bradley McFarland, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928., 170.

73 Kenneth E. Wells. History of Protestant Work in Thailand 1828 - 1958, 123.

74 เรื่องเดียวกัน, 126.

75 The Land of the White Elephant (n.p.:n.d.),

76 ประสิทธิ์ พงศ์อุดม (บรรณาธิการวิชาการ). เรื้อน ร้าย โรย ลา..., 30 - 31.

77 The Siam Outlook Vol. X No. 1, January 1939 p.81 - 82.

78 กองการแพทย์ สภาคริสตจักรในประเทศไทย. สภาคริสตจักรในประเทศไทยกับการบำบัดรักษา 1934 - 1999, 17.

บรรณานุกรม

เอกสาร

เอกสารไมโครฟิล์มของ Board of Foreign Mission รหัส RG 028/79(1) Presbyterian Church in the

United States of America. Board of Foreign Mission. Siam and Laos Mission.

Board of Foreign Mission of the Presbyterian Church. The Thirty - Sixth Annual Report of the Board of Foreign Mission of the Presbyterian Church 1873. New York: Mission House, 1873.

เอกสารอเมริกันเพรสไบทีเรียนมิชชั่น รหัส RG 001/78.

เอกสาร Eakin รหัส 017/80

วารสาร

The Laos News. July 1917.

The Siam Outlook January 1939.

The Siam Outlook January 1939.

 

399 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

หนังสือ

กองการแพทย์ สภาคริสตจักรในประเทศไทย. สภาคริสตจักรในประเทศไทยกับการบำบัดรักษา 1934 - 1999. เชียงใหม่ : ศูนย์บริการงานพิมพ์ มหาวิทยาลัยพายัพ, 1999.

กิบส์, อี. เอ็ม.จากเยรูซาเล็มสู่นิวเดลี. พระนคร : สุริยบรรณ, 2514.

ชยันต์ หิรัญพันธุ์. 60 ปี สภาคริสตจักรในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สภาคริสตจักรในประเทศไทย, 2540.

ประสิทธิ์ พงศ์อุดม. ประวัติศาสตร์สภาคริสตจักรในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สภาคริสตจักรในประเทศไทย, 2527.

ประสิทธิ์ พงศ์อุดม (บรรณาธิการวิชาการ). เรื้อน ร้าย โรย ลา...เชียงใหม่ : ปิง วัง ยม น่าน, 2556.

แฟลตัส, ยอร์ช ฮอส์ (ผู้เรียบเรียง) เจ. เอ. เอกิ้น กับตาด ประทีปเสน (ผู้แปล). “บุรุษผู้ใจดีซามูเอล เรโนลส์ เฮาซ์ ในสยาม. พระนคร:โรงพิมพ์บุญเรือง, 1928.

แวลส์, เคนเน็ท อี. ประวัติศาสตร์โปรเตสแตนต์ในประเทศไทย 1828 - 1958. พระนคร : สภาคริสตจักรในประเทศไทย, 1958.

สมาคมพระคริสตธรรมในประเทศไทย. พระธรรมมัทธิว บทที่ 28 ข้อ 18 - 20. กรุงเทพมหานคร : สมาคมพระคริสตธรรมในประเทศไทย, 1971.

สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย. 30 ปี สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย, 1999

หอสมุดแห่งชาติ. ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 7 ภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันมาประเทศสยามตอนที่ 1 แต่ พ.. 2371 จน พ.. 2379. พระนคร : สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2507.

หอสมุดแห่งชาติ. ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ 12 เรื่องจดหมายเหตุของราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายน์ แลจดหมายเหตุของหมอบรัดเลในรัชกาลที่ 4 ที่ 5. (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2462.

Guide Book.

King, Steven D. The Missionary Story - Part One, Dr. William Albert Briggs and Annabelle King Briggs Section One The Story, 1890 - 1906. Oregon: Steven D. King, 2004.

McFarland, George Bradley, ed. Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828 - 1928. Bangkok: The Bangkok Times Press, Ltd., 1928.

McGilvary. Daniel. A Half Century among Siamese and the Lao. New York: Fleming H. Revell Company, 1911.

Tomlin, J.. Missionary Journals and Letters, written during Eleven Years Residence and Travels among the Chinese, Siammese, Javanese, Khassias, and other Eastern Nations. London: James Nisbet and Co. Berners Street, 1844.

The Land of the White Elephant.

Wells, Kenneth E. History of Protestant Work in Thailand. Bangkok: The Church of Christ in Thailand, 1958.

เว็บไซต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี https://th.wikipedia.org เรื่องโรมันคาทอลิกในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี https://th.wikipedia.org เรื่องศาสนาคริสต์ในประเทศไทย

http://www.cmalliance.org

https://dict.longdo.com

http://www.mission - hospital.org/th